Friday, March 20, 2009

ชั้นเรียนในเวียดนาม



ความเป็นมาของการศึกษาประเทศเวียดนามโดยย่อ

ประเทศเวียดนามได้มีการพัฒนาการศึกษาควบคู่ไปกับพัฒนาของประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นระยะ ๆ ย่อ ๆ ในเชิงประวัติศาสตร์ดังนี้ (Pham Minh Hac,1995, 42-61)

1. ระยะที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์จีน (Period of Chinese Imperial Domination) : 200 ปีก่อน ค.ศ. - ค.ศ. 938
2. ระยะที่ประเทศมีอิสรภาพ (Period of National Independence) : ค.ศ. 938 -ค.ศ. 1859
3. ระยะที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส (Period of French Colonialism): ค.ศ. 1859 - 1945
4. ระยะหลังการปฏิวัติเดือนสิงหาคม (Period after August Revolution) : ค.ศ. 1945 - 1975
5. ระยะของการรวมประเทศ (Period of National Reunification) : ค.ศ. 1975 - ปัจจุบัน

ระยะที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์จีน
ในระยะนี้ประเทศเวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์จีน ดังนั้นผู้บริหารของประเทศจีน จึงเป็นผู้ก่อตั้งระบบการศึกษาในประเทศเวียดนามทั้งในแบบของรัฐและเอกชน ซึ่งในสมัยก่อนเน้นเฉพาะการศึกษาของบุตรชายและการฝึกอบรมบุคคลเพื่อเข้าไปรับราชการและบริหารประเทศ มีนโยบาย "Feudal Intelligentsia" ซึ่งจะคัดเลือกเฉพาะบุตรชายจากครอบครัวขุนนางไปรับราชการกับราชวงศ์จีน ระบบการศึกษาต่อเนื่องของชาวเวียดนามในบางศตวรรษพบว่า บุคคลชาวเวียดนามที่มีฐานะทางสังคมดีและมีสติปัญญาดีจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปศึกษาต่อในประเทศจีน โดยมีการสอบแข่งขันหลายขั้นตอนและครั้งสุดท้ายจะสอบที่กรุงปักกิ่ง เมื่อสอบผ่านจะได้วุฒิเทียบเท่า Doctor’s Degree ระบบการศึกษาดังกล่าวสืบทอดมาจนถึง ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 - ค.ศ. 907) ระบบการศึกษาที่เลียนแบบมาจากประเทศจีนประกอบด้วย การศึกษาเบื้องต้น (Primary Education) ที่มีระยะเวลาการศึกษาน้อยกว่า 15 ปี และการศึกษาระดับอุดมศึกษา (Higher Education) ที่มีระยะเวลาการศึกษามากกว่า 15 ปีขึ้นไป

ระยะที่ประเทศมีอิสรภาพ
ในปี ค.ศ. 938 Ngo Dinh ได้รบชนะจีนและก่อตั้งราชวงศ์ Ngo Dinh และราชวงศ์ Le ตอนต้น (ค.ศ. 939 - ค.ศ. 1009) การศึกษาส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการโดยเอกชนและโรงเรียนพุทธศาสนา จนกระทั่งราชวงศ์ Le (ค.ศ. 1009 - ค.ศ. 1225) เริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ เช่น เมืองหลวง Thang Long หรือ Ha Noi ในปัจจุบัน มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศเวียดนามเป็นแห่งแรก ใน ค.ศ. 1076 ที่มีชื่อเรียกว่า "Quoc Tu Gian หรือ Royal College" เพื่อเป็นแหล่งการศึกษาของบุตรชายของครอบครัวที่มีฐานะดี
ในยุคนี้มีการสร้างโรงเรียนของรัฐขึ้นอีกทั้งในส่วนกลางและจังหวัดต่างๆ เพื่อให้บุตรชายของสามัญชนเข้ารับการศึกษา ทำให้ระบบการศึกษาในประเทศเวียดนามในยุคนี้แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ
1. Royal College อยู่ในเมืองหลวง อยู่ภายใต้การบริหารโดยตรงของกษัตริย์
2. โรงเรียนในระดับจังหวัดและอำเภอ เป็นโรงเรียนของรัฐซึ่งยังมีจำนวนไม่มากนัก
3. โรงเรียนของภาคเอกชน

อาจสรุปได้ว่าการศึกษาในระยะต้น ๆ ของประเทศเวียดนามอยู่ในระบบศักดินา ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการคัดเลือกคนเข้าไปเรียนเพื่อเป็นขุนนางและข้าราชการในระดับต่าง ๆ

ระยะที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส
ในระยะที่ประเทศเวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสนี้ ระยะแรกๆ ยังคงใช้ระบบการศึกษาตามลัทธิขงจื้ออยู่ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1917 จึงได้มีการเริ่มระบบการศึกษาแบบฝรั่งเศส แต่ให้ความสำคัญกับการศึกษาในระดับประถมศึกษา มีโรงเรียนประถมศึกษาเกิดขึ้นในหมู่บ้านที่มีพลเมืองอาศัยอยู่หนาแน่น
การศึกษาในเบื้องต้นมีเกรด 1-2 มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน Ecole Communale ใช้เรียกการศึกษาในทางตอนเหนือ Ecole Auxilier Preparatoire ใช้เรียกการศึกษาทางตอนใต้ และ Ecole Preparatoire ใช้เรียกการศึกษาในตอนกลางของประเทศ ในบางเมืองมีการศึกษาพื้นฐาน 6 ปี ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น Ha Noi, Haiphong และ Vinh มีการศึกษาที่สูงกว่า ระดับประถมศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 4 ปี และมีเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้นที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษา คือ Ha Noi, Hue และ Saigon
ตอนต้นศตวรรษที่ 20 ประเทศฝรั่งเศสมีการพัฒนาการศึกษาวิชาชีพ (Professional Education) ขึ้น โดยมีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาที่มีรูปแบบตะวันตก ในปี ค.ศ. 1902 มีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และเภสัชศาสตร์เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกที่กรุงฮานอย และมีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาหลายแห่งในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาทางด้านเทคนิคและอุตสาหกรรมอีกหลายแห่ง ซึ่งมีระยะเวลาในการศึกษา 2 ปี เน้นการฝึกอบรมทักษะในการทำงานกับเครื่องจักรกล สถาบันการศึกษาในระดับนี้เรียกว่า โรงเรียนฝึกวิชาชีพชั้นสอง จนกระทั่ง ค.ศ. 1919 จึงมีระบบการศึกษาแบบมหาวิทยาลัยที่มีการศึกษาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ ได้แก่ วิชาฟิสิกส์ เคมี จนกระทั่งถึง ค.ศ. 1923 ได้เริ่มมีการจดทะเบียนผู้ที่ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

โดยทั่วไปแล้วระบบการศึกษาของประเทศเวียดนามภายใต้การปกครองของประเทศฝรั่งเศส ยังมีความจำกัดอยู่มาก โดยพบว่ามีจำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนประมาณรัอยละ 2.6 ของประชากรในวัยเรียนทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่มีประชากรทั้งหมด 17,702,000 คน ในปี ค.ศ. 1931

ระยะหลังการปฏิวัติเดือนสิงหาคม
ภายหลังจากการปฏิวัติ เมื่อ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1945 Ho Chi Minh ได้ก่อตั้งระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย "The Democratic Republic of Vietnam" ขึ้นในเขตยึดครองทางเหนือ มีการกำหนดนโบายจากรัฐบาลเพื่อการรณรงค์การไม่รู้หนังสือ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาเพื่อที่จะพัฒนาระบบการศึกษาในประเทศอย่างอิสระ โดยมีนโยบายการฝึกอบรมประชาชนรุ่นใหม่ให้มีความสามารถและมีศักยภาพในการพัฒนาชาติ ในขณะเดียวกันก็ได้มีการทำสงครามต่อสู้กับฝรั่งเศสเรื่อยมาจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1954 จึงได้รับชัยชนะที่ Dien Bien Phu รัฐบาลจึงดำเนินการปฏิรูปทางการศึกษาที่สำคัญ คือ "การศึกษาของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน" มีวัตถุประสงค์ในการอบรมคนรุ่นใหม่ให้เป็นพลเมืองที่จงรักภักดีต่อบรรพบุรุษและบ้านเกิดเมืองนอน เป็นกำลังสำคัญในการป้องกันประเทศ เป็นพลเมืองที่มีศักยภาพในอนาคตและมีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ เน้นการศึกษาทางทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติ เน้นอุดมการณ์สังคมนิยม มีการประกาศ "นโยบายการศึกษาทั่วไปสำหรับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (The General Education Policy of the Democratic Republic of Vietnam)" โดยมีวัตถุประสงค์ในการปฏิรูปครั้งนี้ คือ เพื่อฝึกอบรมและส่งเสริมประชาชนและเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นบุคคลที่มีการพัฒนาอย่างครอบคลุม เป็นพลเมืองที่จงรักภักดีต่อบ้านเกิดเมืองนอน เป็นกำลังแรงงานที่ดี มีความฉลาดและมีคุณธรรม ส่งเสริมประชาธิปไตย และสร้างสังคมนิยมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างประเทศและรวมประเทศให้เป็นอิสระและเป็นประชาธิปไตย

จากข้อมูลการศึกษาของประเทศเวียดนามในระยะนี้ จะให้ความสนใจและส่งเสริมเด็กที่มีความสามารถทางสติปัญญาเป็นพิเศษ โดยมีการจัดห้อง
เรียนพิเศษสำหรับเด็กในระดับ 3 เพื่อเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ เช่น Hanoi University วิทยาลัยครุศึกษาแห่งที่ 1 และวิทยาลัยที่ฝึกอบรมครูเป็นพิเศษเกี่ยวกับภาษาต่างประเทศ เป็นต้น และเพื่อเป็นการเร่งการฟื้นฟูและการพัฒนาประเทศ จึงมีการส่งเสริมการศึกษามัธยมวิชาชีพและการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาไปในขณะเดียวกันเพราะใช้เวลาในการศึกษาที่สั้นกว่า ในปี ค.ศ. 1965 มีการก่อตั้งโรงเรียนวิชาชีพชั้นสองเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 แห่ง และในปี ค.ศ. 1975 มีโรงเรียนมัธยมวิชาชีพ ประมาณ 200 แห่ง ทั่วประเทศ โดยโรงเรียนเหล่านี้ จำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นโรงเรียนในส่วนกลาง และที่เหลือเป็นโรงเรียนท้องถิ่น โรงเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มจาก 50 แห่ง ในปี ค.ศ. 1965 เป็น 200 แห่ง ในปี ค.ศ. 1975

ในช่วงปี ค.ศ. 1955 - ค.ศ. 1956 มีสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในประเทศเวียดนามเหนือ 7 แห่ง คือ

1. University of Hanoi
2. The Teacher Training College of Hanoi
3. University of Teacher of Hanoi
4. Hanoi College of Medicine
5. The Hanoi College of Agriculture
6. The College of Economics
7. College of Fine Arts
ในปีการศึกษา 1974-1975 ในประเทศเวียดนามใต้มีมหาวิทยาลัยเพียง 4 แห่ง ในเมือง Saigon, Hue, Can Tho และ Thu Duc มีวิทยาลัยชุมชนของรัฐ 3 แห่ง ในเมือง My Tho, Nha Trang และ Danang และมีสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเอกชนอีก 11 แห่ง

ระยะเวลาการศึกษาในโรงเรียนมัธยมวิชาชีพใช้เวลา 2-3 ปี ส่วนในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยใช้เวลา 3-6 ปี ได้แก่ Teacher Training College ใช้เวลา 3 ปี University of Technology หรือ Technical College ใช้เวลา 5 ปี และ College of Medicine ใช้เวลา 6 ปี




ระยะการรวมประเทศ


จากชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศในปี ค.ศ. 1975 นำมาซึ่งความเป็นอิสระในการปกครองประเทศ ประเทศเวียดนามจึงได้มีการรวมประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นคง เข้าสู่ระยะใหม่ของการสร้างประเทศ ได้มีการประเมินรูปแบบและระบบการศึกษาที่ปฏิบัติกันมา ซึ่งยังพบว่า คุณภาพในการพัฒนาคนของระบบการศึกษายังคงมีคุณภาพต่ำ การศึกษายังไม่สามารถสร้างคนที่มีความสามารถทั้งในด้านเทคนิค และนักวิทยาศาสตร์ ที่สามารถจะพัฒนาสังคมและฟื้นฟูประเทศหลังสงครามได้อย่างทันการ จึงได้มีการประกาศนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ฉบับที่ 3 ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1979 และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา 1980-1981 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ระบบการศึกษาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการปฏิรูปวัฒนธรรม และระบบความคิดที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคนิควิธีการ วัฒนธรรมและเศรษฐกิจของประเทศ
การศึกษาในช่วงปี ค.ศ. 1975-1985 เป็นช่วงของการจัดการศึกษาในแนวทางสังคมนิยมที่มีมาแต่เดิม แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ในปี ค.ศ.1986 ได้มีการประกาศใช้นโยบาย Doi Moi จึงได้มีการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วงปี 1980-1990 ได้มีการเตรียมการหลาย ๆ อย่าง จนถึงปี ค.ศ.1991 จึงได้มีการปฏิรูปการศึกษาตามแนวทางสมัยใหม่ภายใต้กรอบ Doi Moi อย่างเต็มที่