Tuesday, October 21, 2008

โครงการประดิษฐ์สื่อจากเศษวัสดุ



















หลักการและเหตุผล

วัยเด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัว เด็กจะเกิดการเรียนรู้ผ่านการเล่น การลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง และกระบวนการเรียนรู้ที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ ความสุข สนุกสนาน ตื่นเต้น ประทับใจ การเล่นที่แฝงความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด ก็คือกิจกรรมศิลปะ (วิรุณ ตั้งเจริญ. 2543 : 34) เช่น การวาดภาพระบายสี การประดิษฐ์เศษวัสดุ รวมถึงกิจกรรมการปั้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กไทย การนำกระดาษเก่าๆ หรือวัสดุเหลือใช้ใกล้ตัวก็สามารถนำมาทำศิลปะได้ สามารถทำได้หลายรูปแบบและทำได้ง่าย วัสดุที่ใช้ก็หาได้ง่ายและราคาถูก แทนที่จะนำเศษวัสดุที่ใช้แล้วทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เด็กเห็นคุณค่าการประยุกต์ให้เศษวัสดุใกล้ตัว ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เกิดความภาคภูมิใจต่อผลงานของตนเอง ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำ มีส่วนร่วมทั้งความคิด จิตใจ สมอง เกิดความประทับใจ เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ จะทำให้เด็กค่อยๆ เกิดความคิด สร้างจินตนาการ นำไปสู่การคิดค้น การแก้ปัญหาและสร้างสรรค์งานใหม่ได้
ดังนั้น นักศึกษา สาขาการศึกษาปฐมวัยได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดตั้งโครงการประดิษฐ์สื่อจากเศษวัสดุ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เด็กชอบ สามารถทำได้ด้วยตนเอง เด็กและครูมีส่วนร่วมกันในการสร้างผลงาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครู และเป็นการลดปริมาณขยะและของเหลือใช้ในบ้าน โรงเรียน และชุมชน รู้จักรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

วัตถุประสงค์

1. เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับครู และผู้ปกครอง
2. เพื่อให้เด็กได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของวัสดุเหลือใช้
3. เพื่อลดปริมาณขยะและของเหลือใช้ในบ้าน โรงเรียน และชุมชน
4. เพื่อให้เด็กได้นำเศษวัสดุมาประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์
5. เพื่อส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์

เป้าหมาย


เชิงปริมาณ ผลงาน/ผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุ ของเด็กอนุบาล 3/2 โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เชิงคุณภาพ เด็กเล็งเห็นถึงคุณค่าของเศษวัสดุเหลือใช้ อีกทั้งได้นำเศษวัสดุมาประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดความคิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ และมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็ก ครู และผู้ปกครอง

ขั้นตอนและวิธีการดำเนินงาน

ขั้นวางแผน

1. วางแผนและกำหนดหัวข้อการจัดทำโครงการโดยปรึกษากับครูประจำชั้น
2. นำเสนอโครงการต่อผู้บริหาร
3. ประชุมร่วมกับผู้บริหารและครูประจำชั้นในการดำเนินโครงการ เพื่อจัดเตรียมสถานที่และวัสดุ/อุปกรณ์
4. จัดกิจกรรมตามขั้นตอน ดังนี้
4.1 จัดเตรียมวัสดุ/อุปกรณ์ที่ได้จากของเหลือใช้ในบ้าน โรงเรียน และชุมชน
4.2 การสร้างผลงานจากเศษวัสดุของเด็ก ครู และผู้ปกครอง
5. สรุปและประเมินผลโครงการ

สถานที่ดำเนินการ

ห้องเรียนอนุบาล 3/2 โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

วันและเวลาในการดำเนินโครงการ


เดือน กันยายน พ.ศ. 2551

งบประมาณ

ค่าไหมพรม 110 บาท
ค่ากระดาษสา 25 บาท
ค่าหลอดไฟ, สายไฟ 300 บาท
ค่ากาว 60 บาท
ค่าลูกโป่ง 30 บาท
ค่าสีน้ำอคิวลิค 30 บาท
ค่าวัสดุอื่นๆ 100 บาท
(หมายเหตุ ขออนุมัติถัวจ่ายทุกรายการ)

อุปกรณ์ที่ใช้ (โดยไม่ต้องจัดซื้อ)

ขวดน้ำ, กระดาษหนังสือพิมพ์, สีเทียน, สีน้ำ

ประเมินผล

1. แบบประเมินโครงการของผู้บริหาร

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับครู และผู้ปกครอง
2. เด็กได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของวัสดุเหลือใช้
3. ลดปริมาณขยะและของเหลือใช้ในบ้าน โรงเรียน และชุมชน
4. เด็กได้นำเศษวัสดุมาประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์
5. ส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์



ภาพการจัดโครงการ


ภาพที่ 1 น้องภูมินำผลงานที่เพื่อนในกลุ่มช่วยกันฉีกปะ ปะติด กระดาษลงบนขวดน้ำพลาสติก ที่ทาด้วยกาวอีกรอบหนึ่งออกมาผึ่งลมที่หน้าชั้นเรียน ก่อนที่จะนำขวดที่แห้งไปตกแต่งให้สวยงามต่อไป


ภาพที่ 2 เด็กๆ ช่วยกันตกแต่งผลงานที่ตนเองและเพื่อนช่วยกันสร้างขึ้น โดยวาดภาพและระบายสีตามจินตนาการ รอบๆ ผลงานที่ตนเองสร้างขึ้น ขณะที่เด็กๆ ตกแต่งผลงาน เด็กๆ บอกสิ่งที่ตนเองจะวาดลงบนผลงานให้เพื่อนๆ ฟัง และตั้งใจตกแต่งทำงานของตนเอง

ภาพที่ 3 ครูสาธิตการพันไหมพรมรอบๆ ลูกโป่งให้เด็กดู โดยทากาวที่ไหมพรมแล้วพันรอบๆ ลูกโป่ง แล้วให้เด็กๆ ช่วยกันพันไหมพรมรอบๆ ลูกโป่งไปเรื่อยๆ

ภาพที่ 4 เด็กๆ แบ่งหน้าที่กันในการพันไหมพรม โดยมีคนทากาวที่ไหมพรม คนพันไหมพรมรอบลูกโป่ง และคนทากาวรอบๆ ลูกโป่ง และผลัดเปลี่ยนกันพันลูกโป่ง และทากาว จนเสร็จแล้วนำไปตากแดดให้ไหมพรมแข็งตัว

ภาพที่ 5 ครูนำแจกันที่เด็กๆ ช่วยกันประดิษฐ์ มาใส่ต้นไม้วางไว้รอบๆ ห้อง และนำโคมไฟมาตกแต่งที่มุมของห้องที่ใช่เป็นมุมความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรที่ทำมาจากมะนาว ให้แก่ ผู้จัดการ ครู ผู้ปกครอง และเด็กๆ ที่เข้ามาชมโครงงานเรื่องมะนาว

ภาพที่ 6 นำเสนอโครงการกับครูใหญ่ และหัวหน้าฝ่ายวิชาการ เพื่อตรวจสอบผลงานที่เด็กๆ ได้ช่วยกันประดิษฐ์


วิเคราะห์สรุปและข้อเสนอแนะ

จากการจัดทำโครงการประดิษฐ์สื่อจากเศษวัสดุ พบว่า เด็กๆ ชั้นอนุบาล 3/2 ให้ความสนใจในโครงการประดิษฐ์สื่อจากเศษวัสดุ จำนวน 21 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มกลุ่มละ 3 คน ให้ช่วยกันประดิษฐ์สื่อขึ้นมา
ผู้จัดทำโครงการการจัดทำสื่อนี้ มีความคิดเห็นว่า ในการจัดทำสื่อนี้มีเด็กให้ความสนใจและให้ความร่วมมือดีมาก เด็กให้ความสนใจในการประดิษฐ์โคมไฟ แต่ยังพันไหมพรมรอบลูกโป่งได้ยังไม่ค่อยดี โครงการนี้เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับเด็ก และเด็กกับเด็กได้มีการประดิษฐ์สื่อร่วมกันจากที่ไม่เคยทำ ระหว่างที่ประดิษฐ์เด็กกับเด็กและเด็กกับครูมีการสนทนาและช่วยกันประดิษฐ์สื่อจนสำเร็จ ช่วยกันตกแต่งสื่อที่ตนเองและเพื่อนช่วยกันประดิษฐ์ขึ้นมา เป็นการส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ สื่อที่ประดิษฐ์ออกมานั้นมีความสวยงามและสามารถใช้ประโยชน์ได้ คือ นไปใส่ปากกา ดินสอ หรือนำไปเป็นแจกันดอกไม้ได้ ทำให้ได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของวัสดุเหลือใช้ ได้นำเศษวัสดุมาประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และลดปริมาณขยะและของเหลือใช้ในบ้าน โรงเรียน และชุมชน

1 comment:

Unknown said...

เป็นงานประดิษฐ์ที่น่าสนใจและมีประโยชน์กับเด็กๆ